ประวัติความเป็นมา

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มีประวัติศาสตร์การจัดการเรียนการสอนมาอย่างยาวนานเริ่มตั้งแต่เป็นโรงเรียนฝึกหัดครู วิทยาลัยครู สถาบันราชภัฏ และ มีฐานะเป็นมหาวิทยาลัย ในปัจจุบัน ได้มีการจัดกาเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ในสาขาวิชาครุศาสตร์ ศิลปศาสตร์ วิทยาศาสตร์ บริหารธุรกิจ สาธารณสุขศาสตร์ และพยาบาลศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นในการพัฒนาตนเองของประชาชนในพื้นที่และความต้องการของตลาดแรงงานขององค์กรในท้องถิ่น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จึงเป็นเสมือนเสาหลักทางด้านการศึกษาของท้องถิ่นโดยแท้จริง มีบุคลากรที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้จำนวนมากเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของท้องถิ่นและประเทศไทย

       หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (วท.บ.วิทยาการคอมพิวเตอร์) เป็นหลักสูตรหนึ่งที่มีพัฒนาการควบคู่มากับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ซึ่งได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนมาตั้งแต่เป็นวิทยาลัยครูอุบลราชธานี เมื่อปีการศึกษา 2529 สังกัดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยความตะหนักถึงความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่เข้ามาสู่ประเทศไทยในสมัยนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จึงถือได้ว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาในอันดับต้นๆ ของประเทศไทยที่ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ และหลักสูตรนี้ได้เป็นหลักสูตรหนึ่งที่มีผู้เรียนต้องการเรียนจำนวนมากในแต่ละปีการศึกษา ส่งผลให้ประชาชนในท้องถิ่นมีทางเลือกในอาชีพมากขึ้น ส่งผลย้อนกลับไปยังระบบเศรษฐกิจของท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้นตามไปด้วย

   ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้เข้ามามีบทบาทต่อประชากรของโลกเพิ่มมากขึ้น บุคคล องค์กร หน่วยงาน ได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการบริหารจัดการงานต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ เสมือนกับว่าเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินธุรกิจขององค์กรหรือการดำเนินชีวิตประจำวันของประชากรโลก ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีการพัฒนามาอย่างยาวนานหลายสิบปี มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดแต่ก็จะเห็นได้ว่ามีการพัฒนาแบบไม่หยุดนิ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงโลกอยู่ตลอดเวลา แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีการพัฒนาไปอย่างไร้ขีดจำกัดทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจและประชากรโลก ด้วยกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จึงได้จัดทำโครงการจัดตั้งคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ และได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2553 และให้ดำเนินการในรูปแบบหน่วยงานในกำกับของมหาวิทยาลัย มีฐานะเทียบเท่าคณะ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 เป็นต้นมา ในปัจจุบันโครงการจัดตั้งคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ ได้จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีจำนวน 4 สาขาวิชา และระดับปริญญาโทจำนวน 1สาขาวิชา ดังนี้ วท.บ.(วิทยาการคอมพิวเตอร์) วท.บ.(วิศวกรรมซอฟต์แวร์) วท.บ.(การจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ) วท.บ.(มัลติมีเดียและเทคโนโลยี) และ วท.ม.(คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา) ซึ่งในการจัดการเรียนการสอนในทุกสาขาวิชา ภายใต้การบริหารจัดการโครงการจัดตั้งคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ เราเน้นการ “ผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของสังคมโลก”

ประวัติคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์

  • ปี ๒๕๒๙ จัดตั้งภาควิชาคอมพิวเตอร์ สังกัดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดสอนหลักสูตรอนุปริญญาคอมพิวเตอร์ (อ.วท. คอมพิวเตอร์) สำหรับนักศึกษา โครงการ กศ.บป.
  • ปี ๒๕๓๐ เปิดสอนหลักสูตรอนุปริญญาคอมพิวเตอร์ สำหรับนักศึกษาภาคปกติ
  • ปี ๒๕๓๒ เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต วิทยาการคอมพิวเตอร์ (วท.บ. วิทยาการคอมพิวเตอร์) สำหรับนักศึกษา โครงการ กศ.บป.
  • ปี ๒๕๓๓ เปิดสอนหลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต วิทยาการคอมพิวเตอร์ สำหรับนักศึกษาภาคปกติ
  • ปี ๒๕๔๐ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ และ ภาควิชาหัตถและอุตสาหกรรมศิลป์ ได้แยกออกมาจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดตั้งเป็นคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
  • ปี ๒๕๔๒ ได้เปลี่ยนชื่อ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ เป็น สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สังกัด คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และได้เปิดสอนหลักสูตร ต่างๆ เพิ่มเติม ดังนี้
  • ปี ๒๕๕๐ หลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์
  • ปี ๒๕๕๐หลักสูตร วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
  • ปี ๒๕๕๑ หลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชามัลติมีเดียและแอนิเมชันเทคโนโลยี
  • ปี ๒๕๕๒ หลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • ปี ๒๕๕๔ มหาวิทยาลัยฯ ได้อนุมัติ โครงการจัดตั้ง คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ โดยให้เป็นหน่วยงานในกำกับของมหาวิทยาลัย มีฐานะการบริหารจัดการเทียบเท่าคณะ ทุกประการ